เหตุการณ์นี้เป็นการฉ้อโกงประชาชนและการหลอกลวงเพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อและทำการโอนเงิน โดยใช้เทคนิคการเข้าหาเหยื่อผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียและแอปพลิเคชันการเงินแบบปลอม
เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ขณะที่ผู้เสียหายกำลังเล่นแอปพลิเคชัน TikTok ได้มีผู้ใช้บัญชีชื่อ “@173บิ้ก” ทักข้อความเข้ามาทาง TikTok และเริ่มชวนพูดคุยในลักษณะเชิงชอบพอกับผู้เสียหาย หลังจากการพูดคุยกันสักพัก ผู้ใช้บัญชี “@173บิ้ก” ได้ขอไอดีไลน์ของผู้เสียหายเพื่อคุยต่อ ซึ่งผู้เสียหายได้ให้ไอดีไป จากนั้นไม่นานผู้ใช้ไลน์ที่ใช้ชื่อว่า “บิ๊ก” ซึ่งอ้างว่าเป็นคนเดียวกับที่คุยใน TikTok ได้แอดไลน์ผู้เสียหายเข้ามา
หลังจากได้เริ่มทำการพูดคุยกันในเรื่องทั่วไปได้สักพักหนึ่ง ผู้ใช้งาน TikTok ดังกล่าวก็ได้ทำการส่งภาพกราฟต่างๆมาให้ผู้เสียหายดู พร้อมอ้างว่าตนเองลงทุนและได้กำไรเป็นจำนวนมาก และถามผู้เสียหายว่าสนใจจะลงทุนแบบเขาหรือไม่ ผู้เสียหายด้วยความที่เห็นว่าเป็นเรื่องที่แปลกใหม่และมีคนทำกำไรจากการลงทุนในรูปแบบดังกล่าวได้ ผู้เสียหายจึงมีความสนใจ อยากจะลงทุนเพื่อทำกำไรด้วยเหมือนกัน เลยตอบตกลงไป
ต่อมา ผู้ใช้บัญชีไลน์ดังกล่าว ได้ให้ผู้เสียหายเข้าไปโหลดแอปพลิเคชันจาก Play Store ชื่อว่า Stevcct5er ผู้เสียหายได้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันตามคำแนะนำ โดยนายบิ๊กได้อ้างว่าแอปพลิเคชันดังกล่าวนั้นมีไว้สำหรับการลงทุนเทรดเหรียญคริปโตเคอเรนซี่ โดยผู้ใช้ไลน์ได้สอนวิธีการใช้งานแอปพลิเคชันและวิธีการลงทุนเบื้องต้นให้กับผู้เสียหาย พร้อมทั้งให้ข้อมูลบัญชีธนาคารที่ต้องโอนเงินไปเพื่อเติมเงินเข้าระบบและใช้ในการเทรด
โดยที่ผู้เสียหายได้มีการโอนเงินไปตามหมายเลขบัญชีที่แอดมินบนแอปพลิเคชันให้มา เป็นการเติมเงินเข้าแอปพลิเคชันเพื่อใช้เทรด ผู้เสียหายได้ทำการโอนเงินเพื่อลงทุนไปทั้งหมด 3 ครั้ง โดยมีรายละเอียดการโอนเงิน ดังนี้
- ครั้งที่ 1: เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 14:43 น. โอนเงินจำนวน 20,000 บาท ไปที่บัญชีธนาคารกรุงศรีอยุธยา ชื่อบัญชี ปรียานุช ดอกม่วง
- ครั้งที่ 2: เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 15:46 น. โอนเงินจำนวน 15,000 บาท ไปที่บัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ชื่อบัญชี นายจ่อย กลางสวัสดิ์
- ครั้งที่ 3: เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 15:46 น. โอนเงินจำนวน 50,000 บาท ไปที่บัญชีธนาคารออมสิน ชื่อบัญชี นางสาวสุกัญญา มัฎฐานนท์
ต่อมาในวันที่ 21 ก.พ. 2567 เมื่อผู้เสียหายเห็นจากในระบบว่าผู้เสียหายนั้นได้กำไรจากการลงทุนมาพอสมควรแล้ว จึงจะทำการถอนเงิน แต่ก็ไม่สามารถทำการถอนเงินออกมาได้ โดยทางแอดมินของแอปพลิเคชันดังกล่าวได้แจ้งกับผู้เสียหายว่ายังไม่สามารถถอนเงินได้ จะต้องเสียค่าธรรมเนียมการถอนเงิน 3% ก่อน คิดเป็นยอดเงินประมาณแสนกว่าบาท ผู้เสียหายด้วยความที่ไม่มีเงินแล้วและเงื่อนไขดังกล่าวก็ไม่ได้มีการบอกกับผู้เสียหายมาก่อน จึงไม่สามารถจ่ายค่าธรรมเนียมตามที่ร้องขอได้ และได้เกิดความสงสัยในความโปร่งใสของแอปพลิเคชัน
ในช่วงต่อมาทั้งผู้ใช้ไลน์ชื่อ “บิ๊ก” และแอดมินในแอปพลิเคชัน Stevcct5er ไม่สามารถติดต่อได้ พร้อมทั้งแอปพลิเคชันดังกล่าวก็ถูกลบออกจากแอปพลิเคชัน Play Store ทำให้ผู้เสียหายทราบว่าตนเองถูกหลอกลวงผู้เสียหายจึงติดต่อหน่วยงานทางกฎหมายและแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ สภ.เมืองปทุมธานี โดยตั้งข้อหาฉ้อโกงประชาชนและการนำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้แก่ประชาชน
แผนประทุษกรรมครั้งนี้ใช้วิธีการเข้าหาเหยื่อผ่านโซเชียลมีเดีย และชักชวนให้เหยื่อลงทุนในแอปพลิเคชันปลอมที่สร้างขึ้นมาเพื่อหลอกให้เหยื่อโอนเงิน โดยการหลอกให้เหยื่อเชื่อว่ามีผลตอบแทนสูงในการลงทุนในคริปโตเคอเรนซี่ แต่เมื่อถึงเวลาถอนเงินกลับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในจำนวนสูงและปิดช่องทางการติดต่อเมื่อเหยื่อไม่สามารถจ่ายค่าธรรมเนียมได้